บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งในกลุ่มอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาได้จากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มตัวอย่างในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ซึ่งการสอบถามแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้บริการผู้ประกอบการขนส่ง และกลุ่มผู้จัดส่งสินค้าเอง ในการพิจารณาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งนั้น การศึกษาได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ 2 วิธี คือ การวัดระดับความสำคัญและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการด้วยการวิเคราะห์ค่าคู่อันดับ (Quadrant analysis) และการวัดความคิดเห็นของลูกค้าต่อคุณภาพบริการขนส่งด้วยวิธี SERVQUAL ผลการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ใช้บริการผู้ประกอบการขนส่ง พบว่า ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับปัจจัยทางด้านบริการ (Functionality) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยในด้านความตรงต่อเวลา (On Time) เป็นอย่างมาก ในขณะที่การวิเคราะห์ด้วยเทคนิค SERVQUAL แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับกลุ่มปัจจัยด้านความรับผิดชอบ เป็นที่น่าเชื่อถือ/สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ภายในเวลาที่แจ้ง/ใช้เครื่องมือขนย้ายและจัดส่งที่อยู่ในสภาพดี มากกว่ากลุ่มปัจจัยด้านเครื่องมือในการขนย้ายและจัดส่งที่เหมาะสมกับประเภทสินค้า สำหรับการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ที่จัดส่งสินค้าเอง พบว่า กลุ่มนี้มีความพึงพอใจกับการขนส่งด้วยตนเองเนื่องด้วยสามารถควบคุมการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายได้ดี แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้บริการของผู้ประกอบการขนส่งในอนาคต กลุ่มนี้มีความคาดหวังว่าผู้ประกอบการขนส่งควรมีความซื่อสัตย์ เป็นที่น่าไว้ใจ และมีความพร้อมในการให้บริการเสมอ คำสำคัญ : การตัดสินใจ, ผู้ประกอบการขนส่ง, อุตสาหกรรมกรรมประกอบรถยนต์
งานวิจัยเรื่องนี้ เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจเพื่อจำแนกกลุ่มผู้บริโภคโดยใช้แรงจูงใจในการบริโภคสินค้านวัตกรรมประเภทสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยพัฒนาเครื่องมือการวัดแรงจูงใจในการบริโภคสินค้านวัตกรรมจากเครื่องมือวัดของ Vandecasteele & Geuens (2008) ด้วยการปรับปรุงข้อคำถามให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยผ่านการสัมภาษณ์กลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า สามารถจัดกลุ่มข้อคำถามในเครื่องมือวัดที่ประกอบด้วย 47 ข้อคำถาม ด้วยวิธี Factor analysis ได้เป็น 7 กลุ่มแรงจูงใจ และเมื่อนำข้อมูลด้านแรงจูงใจในการบริโภคสินค้านวัตกรรมนี้มาทำการวิเคราะห์จำแนกกลุ่ม ด้วยวิธี Two-Step cluster analysis แล้ว สามารถจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกได้เป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มนวัตกรรมรอบด้าน กลุ่มภาพลักษณ์และฟังก์ชั่น กลุ่มความรู้และทักษะ กลุ่มการออกแบบและประโยชน์ที่ได้รับ กลุ่มความสวยงาม กลุ่มประโยชน์การใช้งาน และกลุ่มไม่มีกฎเกณฑ์ ผลการวิจัยทำให้ทราบพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้บริโภคชาวไทยที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เนื่องจาก แรงจูงใจที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนากลยุทธ์ในการวางแผนการตลาดสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตก ต่างกัน
บทความนี้รายงานผลของการวิจัยเชิงลึกการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการฝึกอาชีพ โดยมีจุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการฝึกอาชีพเพื่อประชาชน ศูนย์ฝึกอาชีพวัดวรจรรยาวาส สำนักงานเขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามหลักสูตรของกลุ่มวิชาเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย วิชาตัดผมเสริมสวย วิชาช่างอิเล็คทรอนิกส์ วิชาศิลปประดิษฐ์ วิชาอาหารและโภชนาการและวิชาทั่วไป โดยใช้วิธีการสำรวจจากตัวอย่างผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ ซึ่งเข้ารับการอบรมระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 จำนวน 399 คน เลือกตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งผู้เข้ารับการฝึกอาชีพตามกลุ่มวิชา และกำหนดขนาดตัวอย่างตามสัดส่วน(Proportionate stratified random sampling) จำนวนตัวอย่างในแต่ละกลุ่มจะกำหนดให้เป็นปฏิภาคโดยตรงกับจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอาชีพในกลุ่มนั้น ๆ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา คือ ร้อยละและค่าเฉลี่ย สถิติเชิงอนุมานคือ ทดสอบสมมติฐานโดยใช้การทดสอบแบบไคสแควร์และการวิเคราะห์ความแปรปรวน ผลการศึกษา สรุปได้ว่าลักษณะส่วนบุคคล คือ ระดับการศึกษาและกลุ่มวิชาชีพที่เข้ารับการฝึกอาชีพ มีผลต่อการประเมินผลสัมฤทธิ์โดยรวม ณ ระดับนัยสำคัญ 0.10 โดยกลุ่มวิชาชีพที่เข้าอบรมมีลำดับความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์โดยรวมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ระดับการศึกษา โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การณ์จร เท่ากับ 0.239 และ 0.210 ตามลำดับ แต่เมื่อกำหนดระดับนัยสำคัญ 0.05 จะพบว่ามีเพียงกลุ่มวิชาชีพที่เข้ารับการฝึกอาชีพเท่านั้นที่มีผลต่อการประเมินผลสัมฤทธิ์โดยรวม เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านต่าง ๆ โดยใช้การประเมินรูปแบบซิป (CIPP model) ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตพบว่าด้านผลผลิตผู้เข้ารับการฝึกอาชีพมีค่าเฉลี่ยระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เข้ารับการฝึกอาชีพในกลุ่มวิชาชีพที่ต่างกันจะแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ส่วนการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านกระบวนการ ค่าเฉลี่ยระดับการประเมินผลสัมฤทธิ์ในกลุ่มวิชาชีพที่ต่างกันไม่แตกต่างกัน ณ ระดับนัยสำคัญ 0.05 การประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฝึกอาชีพเพื่อประชาชน เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยใช้ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของปัจจัยต่างๆ เมื่อกำหนดค่าน้ำหนักหรือความสำคัญของแต่ละปัจจัย/เรื่องโดยยึดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเป็นหลัก สรุปได้ว่าโครงการฝึกอาชีพเพื่อประชาชน วัดวรจรรยาวาส มีผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยมีค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์เท่ากับ 3.73 จากค่าสูงสุด 5 หรือคิดเป็นค่าผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 74.62
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบผลกระทบของการประยุกต์ใช้การจัดการคุณภาพโดยรวม ที่มีต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีการจัดการคุณภาพโดยรวม เป็นตัวแปรอิสระและเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในองค์กร ใช้วิธีการเก็บรวบรวม ข้อมูลจากพนักงานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามใช้วิธีส่งเอกสาร ไปยังหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากพนักงานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามที่มีเนื้อความสมบูรณ์ทั้งสิ้น 205 คน ผลการวิจัย พบว่า การประยุกต์ใช้การจัดการคุณภาพโดยรวม ด้านการประยุกต์ใช้การจัดการคุณภาพโดยรวม ด้านการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ด้านความ มีอิสระในการทำงาน และด้านการเสริมสร้างอำนาจ มีความสัมพันธ์และผลกระทบเชิงบวกกับประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ ประโยชน์ของการวิจัยสามารถที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการ อันจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กร มีการคิดการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เอื้อให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นำมาซึ่งผลในเชิงคุณค่าขององค์กร ที่สามารถสะท้อนสู่สาธารณชน ในรูปแบบต่างๆ ต่อไป
บทความนี้เป็นการแนะนำแนวคิดเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันของกิจการด้วยการจัดการโซ่อุปทาน รวมทั้งอธิบายความหมายของคำว่า โซ่อุปทาน และ การจัดการโซ่อุปทาน และเหตุผลที่ทำให้การจัดการโซ่อุปทานสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการจัดการโซ่อุปทานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้แก่กิจการได้อย่างไร
ลองจินตนาการว่า เมื่อท่านเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ท่านก็ได้รับข้อความที่ส่งมายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของท่าน เพื่อแจ้งการได้รับส่วนลดสำหรับการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าแห่งนั้น หรือจินตนาการว่าท่านกำลังขับรถอยู่บนถนนแห่งหนึ่งที่ท่านอาจจะไม่คุ้นเคย และท่านสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่สามารถเชื่อมโยงแบบไร้สายกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อขอข้อมูลที่ต้องการ เช่น ที่ตั้งของปั้มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด ข้อมูลของร้านอาหารที่ใกล้ที่สุดที่ขายอาหารประเภทที่ท่านต้องการรับประทาน ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณนั้น หรือสอบถามว่ามีเพื่อนของท่านอยู่ในบริเวณใกล้เคียงบ้างหรือไม่ หากท่านรู้สึกว่า เหตุการณ์สมมติที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ แสดงว่าท่านกำลังให้ความสนใจ หรือเห็นประโยชน์ของบริการที่เรียกว่า โลเคชันเบสเซอร์วิส ซึ่งเป็นบริการอย่างหนึ่งที่ใช้ประโยชน์ของการระบุตำแหน่งของอุปกรณ์แบบไร้สาย เพื่อเสนอบริการและข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ใช้บริการ โดยในบทความนี้ จะได้กล่าวถึงความหมาย ส่วนประกอบที่สำคัญ การทำงาน ประโยชน์การใช้งาน และข้อที่ควรคำนึงถึงของโลเคชันเบสเซอร์วิส