การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการเรียนรู้ขององค์กรส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพขององค์กรของธุรกิจอาหารในประเทศไทยโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งได้แก่ ธุรกิจอาหารในประเทศไทย จำนวน 86 แห่ง เครื่องมือวิจัยเป็นแบบสอบถามทางไปรษณีย์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา และทดสอบสมมุติฐานโดยการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) ความพร้อมด้านทรัพยากรและความไม่แน่นอนด้านสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสามารถในการเรียนรู้ขององค์กร 2) ความสามารถในการเรียนรู้ขององค์กรมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประสิทธิภาพขององค์กร 3) ประสบการณ์ในการเรียนรู้ขององค์กรเป็นตัวแปรสอดแทรกมีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารและความสามารถในการเรียนรู้ขององค์กร 4) ประสบการณ์ในการเรียนรู้ขององค์กรเป็นตัวแปรสอดแทรกมีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความไม่แน่นอนด้านสิ่งแวดล้อมและความสามารถในการเรียนรู้ขององค์กร งานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในการอธิบายถึงทฤษฎีการบริหารจัดการและมีความเข้าใจในการทำงานเป็นทีม การแบ่งปันความรู้ในการทำงานของธุรกิจ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบบจำลองสถานการณ์สำหรับการวิเคราะห์กระบวนการหยิบสินค้าที่เป็นสาเหตุทำให้องค์กรจัดเตรียมสินค้าส่งลูกค้าล่าช้า แบบจำลองได้ถูกนำมาใช้เพื่อการประเมินการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดการคลังสินค้าที่มีผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการหยิบสินค้าใน 2 ลักษณะ คือ 1) การปรับเปลี่ยนวิธีการหยิบสินค้า และ 2) การปรับการจัดวางตำแหน่งจัดเก็บสินค้าและพื้นที่รวบรวมสินค้าใหม่ ด้วยการประยุกต์ใช้โปรแกรม “ExtendSim8” การศึกษานี้ได้ใช้คลังสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์แห่งหนึ่งเป็นกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่าการปรับการจัดวางตำแหน่งจัดเก็บสินค้าทำให้ระยะเวลารวมและระยะทางในการเดินหยิบสินค้าลดลงร้อยละ 6.92 และ 44.10 ตามลำดับ ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการหยิบสินค้าจากการหยิบสินค้าทีละคำสั่งมาเป็นการหยิบสินค้าแบบแบ่งเขตสามารถลดระยะทางในการเดินหยิบสินค้าได้ถึงร้อยละ 83.26 ในขณะที่พนักงานเกิดเวลารอคอยและใช้ระยะเวลารวมในการหยิบสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.38 โดยระยะเวลารวมของการทำงานในแต่ละวันจะลดลงได้หากพนักงานหยิบสินค้าแต่ละเขตมีปริมาณงานที่สมดุลกัน โดยผลลัพธ์จากแบบจำลองสถานการณ์จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการนำแนวทางต่างๆไปปฏิบัติภายใต้กระบวนการตัดสินใจปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
งานศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการลงทุนตามกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) รวมถึงสภาวะตลาด ขนาดของหลักทรัพย์ และปริมาณการซื้อขายที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการลงทุนตามกัน นอกจากนั้นยังศึกษาถึงผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2550 ว่าส่งผลถึงพฤติกรรมการลงทุนตามกันหรือไม่ โดยการศึกษานี้ทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ผลการศึกษาพบว่าโดยภาพรวมแล้ว ตลาดตราสารทุนทั้งสองของประเทศไทย ไม่มีพฤติกรรมการลงทุนตามกัน แต่เมื่อศึกษาถึงความไม่สมมาตรของตลาด พบว่าในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ปริมาณการซื้อขายมีผลต่อพฤติกรรมการลงทุนตามกัน รวมไปถึงพบหลักฐานว่ามีการลงทุนตามกันในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอีกด้วย ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาที่ศึกษา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีประสิทธิภาพด้านข้อมูลข่าวสารมากกว่า
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อเป็นการศึกษาถึงแรงจูงใจหรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทข้ามชาติของประเทศที่พัฒนาแล้ว และบริษัทข้ามชาติของไทย ลักษณะเด่นของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของแรงจูงใจและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทระหว่างบริษัททั้งสองประเภทนี้ การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยอิงอยู่บนทฤษฎีที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทสี่ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีทางสถาบัน (Institutional Theory) ทฤษฎีสองมิติของความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (Two-dimensional Theory of CSR) โมเดลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานทางสังคมของบริษัท (Conceptual Model of Corporate Social Performance) และทฤษฎีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Theory) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกของบริษัทข้ามชาติหกรายซึ่งประกอบด้วยบริษัทข้ามชาติของประเทศพัฒนาแล้วสามรายและบริษัทข้ามชาติของประเทศไทยสามราย พบว่าทั้งหกบริษัทถือว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานทางธุรกิจและเน้นว่าเป็นจุดเด่นของบริษัท บริษัทข้ามชาติของประเทศพัฒนาแล้วทั้งสามแห่งชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทของสาขาที่อยู่ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากความต้องการของประเทศไทยเองมากกว่ามาจากนโยบายของบริษัทแม่ ทั้งหกบริษัทไม่ได้จำกัดกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทแค่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ตนอยู่เท่านั้น แต่จะเน้นถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปด้วย จุดอ่อนที่เหมือนกันประการหนึ่ง คือไม่มีการวัดผลความสำเร็จของกิจกรรมทางความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ส่วนความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งคือ บริษัทข้ามชาติของประเทศพัฒนาแล้วมักจะสื่อสารกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้รับทราบ เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านั้น ในขณะที่บริษัทข้ามชาติของไทยไม่ได้ให้ความสนใจในการสื่อสารนี้ กล่าวโดยสรุป บริษัทข้ามชาติของไทยควรที่จะพิจารณาการจัดทำมาตรวัดผลความสำเร็จของกิจกรรมทางความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท โดยวัดจากประสิทธิผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลหลาย ๆฝ่ายในสังคม การวัดผลความสำเร็จนี้มีประโยชน์ในการตรวจสอบว่าการใช้จ่ายเงินในกิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ นอกจากนี้ บริษัทข้ามชาติของไทยควรมีการสื่อสารกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้มากขึ้น เพื่อให้พนักงานภายในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัท และเพื่อสร้างความร่วมมือจากบุคคลภายนอกด้วย