งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ว่า บรรษัทข้ามชาติในภาคการบริการในกลุ่มโรงแรมจากประเทศไทยมีนโยบาย กลยุทธ์และแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างไรเพื่อให้พนักงานของกลุ่มโรงแรมยังคงเอกลักษณ์ของการบริการที่เป็นไทย (Thai Hospitality Service) ไว้ได้ โดยเฉพาะเมื่อก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพในรูปแบบของกรณีศึกษากลุ่มธุรกิจโรงแรมจากประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มโรงแรมในเครือดุสิตอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งถือเป็นกลุ่มโรงแรมที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาอย่างยาวนานและได้ก้าวสู่การเป็นธุรกิจระดับโลกมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ ผลการศึกษาในเบื้องต้นสรุปว่า บรรษัทข้ามชาติในภาคการบริการในกลุ่มโรงแรมจากประเทศไทยได้มีการใช้กลยุทธ์และแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบของ Glocalization (การผสมผสานระหว่าง Global และ Local) กล่าวคือ บรรษัทข้ามชาติในภาคการบริการในกลุ่มโรงแรมจากประเทศไทยได้มีการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการปรับแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละสำนักงานสาขาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและบริบทแวดล้อมของแต่ละประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขานั้น อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวมาจากกรณีศึกษาของบรรษัทข้ามชาติจากประเทศไทยเพียงบริษัทเดียว ดังนั้น การนำข้อสรุปดังกล่าวไปขยายผลในแง่ของการวิเคราะห์เชิงคุณภาพในรูปแบบของกรณีศึกษาของโรงแรมอื่นๆ หรือบรรษัทข้ามชาติในภาคการบริการในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการธนาคาร การประกันภัย และเทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณในรูปแบบของแบบสำรวจองค์การในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไปน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการ นักปฏิบัติ และต่อวงการศึกษามากยิ่งขึ้น
ในปีพ.ศ. 2550 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปิดให้ซื้อขาย ThaiDEX SET50 ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (อีทีเอฟ) ที่ออกแบบให้มีผลตอบแทนตามดัชนี SET50 สัญญาฟิวเจอร์ที่อ้างอิงดัชนี SET50 เช่นเดียวกัน ได้เปิดให้ซื้อขายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 บทความนี้ศึกษาว่าการเปิดให้ซื้อขาย TDEX มีผลกระทบต่อการทำอาบิทราจบนดัชนีหุ้นอย่างไร ในตลาดที่ไม่มีความฝืด ส่วนต่างราคาที่ผิดปรกติระหว่างฟิวเจอร์และดัชนีอ้างอิงควรจะถูกทำกำไรทันทีโดยผู้ทำอาบิทราจ ดังนั้นราคาฟิวเจอร์และระดับดัชนีควรจะมีความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามตัวแบบต้นทุนการถือครอง แต่ในสภาพตลาดจริง ส่วนต่างราคาที่ผิดปรกติอาจจะคงอยู่ได้เป็นเวลานาน อันเป็นผลข้อจำกัดในการทำอาบิทราจ เนื่องจากการเปิดให้ซื้อขาย TDEX อาจช่วยลดข้อจำกัดในการทำอาบิทราจให้น้อยลง ผู้เขียนคาดหมายว่าส่วนต่างราคาที่ผิดปรกติจะคงอยู่ได้สั้นลงหลังจากการเปิดให้ซื้อขาย TDEX ผู้เขียนใช้ตัวแบบตอบสนองความคลาดเคลื่อนกับข้อมูลราคารายวันของสัญญาฟิวเจอร์บนดัชนี SET50 และค่าของดัชนี SET50 ในการวัดการตอบสนองของราคาต่อส่วนต่างราคาที่ผิดปรกติ ค่าสัมประสิทธิ์ของพจน์ค่าความคลาดเคลื่อนซึ่งมีชื่อเรียกว่า สัมประสิทธิ์ความเร็วในการปรับตัว เป็นตัววัดความเร็วที่ราคาปรับตัวเข้าสู่ค่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ถ้าการมี TDEX ช่วยให้ทำอาบิทราจได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนคาดหมายว่า สัมประสิทธิ์ความเร็วในการปรับตัวควรจะมีค่าเพิ่มขึ้นหลังจากการเปิดให้ซื้อขาย TDEX
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลการดำเนินงานและความต่อเนื่องของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุก (active funds) ที่ลงทุนในตราสารทุนไทยในช่วงปี 1995-2014 ผลการศึกษาของงานวิจัยนี้ยืนยันผลการศึกษาของงานวิจัยส่วนใหญ่ของกองทุนรวมในตลาดต่างประเทศที่ว่าผลการดำเนินงานของกองทุนรวมโดยเฉลี่ยไม่สามารถชนะผลตอบแทนของตลาดหลังปรับความเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือในช่วงปี 1995-2014 กองทุนรวมหุ้นไทยโดยเฉลี่ยได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หลังปรับความเสี่ยงแล้วอยู่ที่ประมาณ 0.115% ต่อปี (หรือมีค่า alpha ที่ -0.115% ต่อปี) และมีเพียง 6 กองทุนจาก 179 กองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนชนะตลาดหลังปรับความเสี่ยงแล้วอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่ากลยุทธ์ในการซื้อกองทุนหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีในอดีต เช่น กองทุนหุ้นที่ชนะค่าเฉลี่ยของกองทุนหุ้นด้วยกัน กองทุนหุ้นที่ชนะตลาด หรือกองทุนหุ้นที่ทำผลงานติดอันดับต่างๆ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องได้ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและทางปฏิบัติ (statistically and economically significant) ทั้งในระยะสั้น 1 ปี และระยะยาว 5 ปี จึงสรุปได้ว่าไม่มีกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมที่ใช้ผลงานในอดีตใดๆแล้วจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนตลาดอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญในทางสถิติและทางปฏิบัติ ผลการศึกษาของกองทุนรวมหุ้นไทยช่วงปี 1995-2014 นี้จึงสนับสนุนทฤษฎีตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis) ที่เชื่อว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อแล้วถือ (buy and hold strategy) พอร์ตโฟลิโอที่ได้ผลตอบแทนตามตลาดหรือกองทุนดัชนี (index funds) ที่มีค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนและค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (front- and back-end fees) ที่ต่ำ เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุด
งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจในการใช้แอพสแกนรหัสคิวอาร์ซื้อสินค้าจากร้านค้าเสมือน โดยประยุกต์ทฤษฎีคุณค่าของการบริโภค ซึ่งมีปัจจัยที่ศึกษาทั้งหมด 8 ปัจจัย ได้แก่ คุณค่าทางหน้าที่ คุณค่าทางสังคม คุณค่าทางความรู้ความคิด คุณค่าทางอารมณ์ คุณค่าทางเงื่อนไข ความกดดันทางเวลาของการส่งเสริมการขาย คุณภาพของเนื้อหาบนร้านค้าเสมือน และความตั้งใจในการใช้แอพสแกนรหัสคิวอาร์ซื้อสินค้าจากร้านค้าเสมือน ผลการศึกษาที่ได้พบว่า ผู้ใช้จะมีความตั้งใจในการใช้แอพสแกนรหัสคิวอาร์ซื้อสินค้าจากร้านค้าเสมือนจากอิทธิพลทางตรงของปัจจัยทางด้านคุณค่าทางหน้าที่ คุณค่าทางอารมณ์ คุณค่าทางความรู้ความคิด คุณค่าทางเงื่อนไข คุณภาพของเนื้อหาบนร้านค้าเสมือน และอิทธิพลทางอ้อมของปัจจัยด้านคุณภาพของเนื้อหาบนร้านค้าเสมือนที่มีอิทธิพลผ่านปัจจัยด้านคุณค่าทางหน้าที่ และความกดดันทางเวลาของการส่งเสริมการขายส่งอิทธิพลผ่านคุณค่าทางอารมณ์ แต่ปัจจัยด้านคุณค่าทางสังคมและความกดดันทางเวลาของการส่งเสริมการขายไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อความตั้งใจในการใช้แอพสแกนรหัสคิวอาร์ซื้อสินค้าจากร้านค้าเสมือน
กลยุทธ์สินค้าคงเหลือแบบลีนและปรัชญาการผลิตแบบทันเวลาได้มีการนำมาปฏิบัติในองค์กรทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในอดีตที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความลีนของสินค้าคงหลือกับผลการดำเนินงานด้านการเงินขององค์กรยังคงให้ผลการศึกษาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การศึกษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูง ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับความลีนของสินค้าคงเหลือกับผลการดำเนินงานขององค์กรในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังไม่เป็นที่เข้าใจเท่าที่ควร ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ ระบบโลจิสติกส์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้รับการพัฒนาน้อยกว่าในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูง จึงอาจทำให้ผลกระทบของการบริหารสินค้าคงเหลือแบบลีนต่อผลการดำเนินงานขององค์กรแตกต่างจากในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูง ดังนั้น บทความวิจัยนี้จึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความลีนของสินค้าคงเหลือกับผลการดำเนินงานขององค์กร โดยใช้ข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย งานวิจัยนี้ใช้การวิเคราะห์ความถดถอยอิทธิพลคงที่ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความลีนของสินค้าคงเหลือกับผลตอบแทนทางการบัญชี สำหรับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความลีนของสินค้าคงเหลือกับผลตอบแทนของหุ้นใช้วิธีการจัดกลุ่มหลักทรัพย์ ผลการศึกษาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างระดับความลีนของสินค้าคงเหลือกับผลตอบแทนทางการบัญชีมีความแตกต่างกันระหว่างอุตสาหกรรม สำหรับการวิเคราะห์ผลตอบแทนของหุ้นพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีระดับความลีนของสินค้าคงเหลือในระดับต่ำกับกลุ่มที่มีระดับความลีนของสินค้าคงเหลือในระดับสูง
ท่าเรือกรุงเทพเป็นท่าเรือที่เกิดขึ้นและเติบโตควบคู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หากแต่บทบาทของท่าเรือกรุงเทพได้ลดลงตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบด้านจราจร การส่งเสริมการใช้ท่าเรือแหลมฉบัง และการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ทำการศึกษาการพัฒนาของท่าเรือโยโกฮาม่าและพื้นที่โดยรอบ ด้วยมุมมองประวัติศาสตร์ (Historical Approach) และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงกรอบการวิเคราะห์ตามหลักทฤษฎีสถาบัน (Institutional Theory) และทฤษฎีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Theory) เพื่อชี้ให้เห็นกระบวนการและปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท่าเรือโยโกฮาม่าและการพัฒนาของพื้นที่รอบท่าเรือ ผลการวิเคราะห์สามารถนำเสนอแนวทางนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำท่าเรือกรุงเทพให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสัมฤทธิผล