ผู้นำทางความคิดเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในกลุ่มสังคมประเภทหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจมาอย่างยาวนานสำหรับแวดวงการตลาด อันเนื่องมาจากการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้บริโภคคนอื่นในกลุ่มสังคม พฤติกรรมการบอกต่อของคนกลุ่มนี้มีผลกระทบอย่างสูงต่อกลยุทธ์การบอกต่อ จนกระทั่งในปัจจุบันยังคงมีการกล่าวถึงผู้นำทางความคิดทางการตลาดจำนวนมาก ดังนั้นจึงเล็งเห็นประโยชน์ในการนำเสนอความหมายและจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของผู้นำทางความคิดสำหรับผู้สนใจ นำไปสู่ความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีอิทธิพลทางการตลาดประเภทอื่น จากการรวบรวมงานวิจัยและบทความที่น่าเชื่อถือ โดยเนื้อหาประกอบด้วย วิวัฒนาการของการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างจากผู้มีอิทธิพลประเภทอื่น พฤติกรรมและแรงจูงใจของความเป็นผู้นำทางความคิด แนวทางการระบุผู้นำทางความคิดพร้อมทั้งประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับผู้นำทางความคิดต่อไปในอนาคต
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายการถือหุ้นและสภาพคล่องของหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี ค.ศ. 2011-2015 ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ระยะห่างระหว่างราคาเสนอซื้อและเสนอขายแคบลง อัตราส่วนความไร้สภาพคล่องของ Amihud ลดลง และ อัตราส่วนสภาพคล่องสูงขึ้น เมื่อบริษัทมีการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (free float) และจำนวนผู้ถือหุ้นมากขึ้น ดังนั้น ผลการศึกษาแสดงว่าการกระจายการถือหุ้นมีผลเชิงบวกต่อสภาพคล่องของหุ้น ผลการศึกษายังคงเดิมเมื่อทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดสองขั้นเพื่อควบคุมปัญหา endogeneity ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้มีนัยสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารในการเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นด้วยการเพิ่มการกระจายการถือหุ้น
บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ตั้งและสมรรถภาพของโรงแรม โดยใช้การประเมินผลิตภาพแรงงานร่วมกับการวัดประสิทธิภาพตามแบบจำลอง SFA, DEA และ DEA-Metafrontier ของโรงแรมที่ประกอบกิจการในประเทศไทย พบว่าโรงแรมในกรุงเทพมหานครมีสมรรถภาพสูงกว่าโรงแรมในต่างจังหวัด สะท้อนการรักษาระดับการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและมีความสำคัญทางธุรกิจของประเทศ สำหรับโรงแรมที่ตั้งอยู่ใกล้ท่าอากาศยานมีประสิทธิภาพการดำเนินงานดีกว่าโรงแรมที่มีทำเลไกลออกไปเฉพาะในกลุ่มสถานประกอบการที่รองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และเป็นที่น่าสนใจเมื่อการศึกษานี้พบเพียงว่า โรงแรมในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวมีผลิตภาพแรงงานสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่กลับไม่พบความแตกต่างของประสิทธิภาพการดำเนินงานระหว่างทั้งสองพื้นที่นี้ เป็นไปได้ว่าบริเวณดังกล่าวมีรายรับจากการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง ทำให้บุคลากรที่มีความสามารถด้านบริการสนใจร่วมงานกับสถานประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า ผลการศึกษาแสดงมิติสำคัญของสมรรถภาพที่เชื่อมโยงถึงการบริหารงานภายในโรงแรม โดยสภาพแวดล้อมที่มีสภาวะการแข่งขันที่แตกต่างกันตามทำเลที่ตั้งมีบทบาทต่อสมรรถภาพของโรงแรมเพราะเป็นสิ่งกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นโรงแรมจำเป็นต้องมีรูปแบบการดำเนินงานที่ต่างกันตามสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าพักที่ไม่เหมือนกันและจัดโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับงานและขนาดของสถานประกอบการ ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิรูปการศึกษาให้มีความรู้ตรงตามความต้องการของตลาด และการกระจายการพัฒนาทักษะแรงงานภาคบริการโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานระดับบนไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับภาคบริการของไทยให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืน
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุปสรรคของการซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับผู้บริโภค (Cross – Border B2C E-Commerce) และผลกระทบต่อความตั้งใจจะซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การศึกษาได้ประยุกต์แนวคิดการรับรู้ความเสี่ยงและความไว้วางใจในการวัดความเสี่ยงจากการซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ผลการสำรวจออนไลน์จากผู้บริโภคไทย พบว่าอุปสรรคของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับผู้บริโภคประกอบด้วยปัจจัยการรับรู้ความเสี่ยง 4 ปัจจัย (สินค้าและนโยบายการขาย การขนส่ง การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองตามกฎหมาย) และความไว้วางใจ การรับรู้ความเสี่ยงของปัจจัยด้านสินค้าและนโยบายการขายส่งผลต่อทัศนคติที่ไม่ดีต่อการซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ทัศนคติที่ไม่ดีและการรับรู้ความเสี่ยงด้านการขนส่งส่งผลต่อความตั้งใจในการซื้อสินค้าผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่ลดลง
การตลาดดิจิทัล (Digital marketing) ได้ทวีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นในทุกภาคส่วนของการดำเนินธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับ ตลอดจนมีผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค นักวิชาการด้านการตลาดควรตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดปัญหางานวิจัย (Problem identification) ด้านการตลาดดิจิทัลที่ต้องตรงกับความต้องการและก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยการตลาดดิจิทัลในอดีตถึงปัจจุบันเพื่อระบุสถานะของงานวิจัย และการจัดประชุมเชิงวิสัยทัศน์โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจากหลายอาชีพมาให้มุมมองด้านการตลาดดิจิทัลในอนาคต พบว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องการงานวิจัยด้านการตลาดดิจิทัลที่จะช่วยกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ นโยบาย และแนวทางการพัฒนาภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายด้านอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น วัตถุประสงค์ของบทความเรื่องนี้ คือ การกำหนดประเด็นปัญหาวิจัยด้านการตลาดดิจิทัลทั้งเชิงมหภาคและจุลภาคที่ตรงกับความต้องการของประเทศไทยในอนาคต นักวิชาการด้านการตลาดและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อเสนอแนะปัญหางานวิจัยการตลาดดิจิทัลในมิติต่างๆ จากบทความนี้ มาพัฒนาให้เกิดงานวิจัยการตลาดดิจิทัลที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไปในอนาคต