ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความไว้วางใจกับข้อมูลจากผู้บริโภคอื่นมากกว่าข้อมูลจากบริษัท ซึ่งรวมถึงข้อมูลและประสบการณ์ที่ถูกแบ่งปันผ่านสมาร์ทโฟนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของแรงจูงใจในการท่องเที่ยวที่มีต่อความพึงพอใจในการท่องเที่ยว พฤติกรรมการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ในขณะท่องเที่ยว และความตั้งใจในการแบ่งปันข้อมูลภายหลังการท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างจำนวน 355 คน ได้รับการสำรวจโดยการสุ่มตัวอย่างแบบโควตาตามสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยปี ค.ศ. 2017 ซึ่งประกอบด้วยนักท่องเที่ยว 7 สัญชาติ ผลการศึกษานี้พบว่า อิทธิพลจากแรงจูงใจการท่องเที่ยวที่มีต่อความพึงพอใจในการท่องเที่ยว พฤติกรรมและความตั้งใจในการแบ่งปันทั้งในขณะและภายหลังการเดินทางจะแตกต่างกันออกไปตามสัญชาติของนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถาม ผลการศึกษาสามารถช่วยสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกแบบกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเกิดการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบออนไลน์ที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทย
การศึกษานี้ต่อยอดงานวิจัยในอดีตเรื่องคุณค่าของการกำกับดูแลกิจการต่อผลการดำเนินงานโดยการเพิ่มคุณภาพงานสอบบัญชีในฐานะตัวแปรส่งผ่านเข้าไปในการวิเคราะห์ การศึกษานี้วัดผลการดำเนินงานโดยใช้เงินสดปันผลเป็นตัวแปรตาม ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการ และตัวแปรส่งผ่าน คือ คุณภาพงานสอบบัญชี ทั้งนี้เพื่อศึกษาบทบาทของผู้สอบบัญชีในการสนับสนุนการกำกับดูแลกิจการ และส่งผลการต่อผลดำเนินงานในท้ายที่สุด การวิเคราะห์ใช้กลุ่มบริษัทจดทะเบียนในไทย 100 อันดับแรกซึ่งถือได้ว่ามีการกำกับดูแลที่ดี ระหว่างปี พ.ศ. 2556 – 2559 การวิเคราะห์ข้อมูลมีทั้งเชิงพรรณนาและการถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษานี้ยืนยันการศึกษาในอดีตที่ว่าการกำกับดูแล ได้แก่ การแจ้งการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นล่วงหน้า และผลตอบแทนกรรมการ มีผลต่อการจ่ายเงินสดปันผล เมื่อเพิ่มคุณภาพงานสอบบัญชีเข้าไปในการวิเคราะห์ พบว่าไม่เพียงแต่ตัวแปรการกำกับดูแลกิจการเท่านั้น คุณภาพการสอบบัญชียังมีผลกระทบต่อการจ่ายเงินสดปันผลอีกด้วย ตัวแปรควบคุมที่มีผลต่อการจ่ายเงินสดปันผล ได้แก่ ขนาดของกิจการ อัตราส่วนการก่อหนี้ และอัตราส่วนการทำกำไร การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการกำกับดูแลกิจการมีผลต่อผลการดำเนินของกิจการ นอกจากนั้นผู้สอบบัญชียังมีส่วนในการทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอีกด้วย
วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาความสามารถในการใช้ความรู้ทั้งภายนอกและภายในต่อการสร้างนวัตกรรมขององค์กรใหม่ในภาคการเกษตร ปัจจุบันประเทศไทยได้ผลักดันทุกภาคส่วนของธุรกิจก้าวสู่นวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมให้กับองค์กรใหม่ของธุรกิจภาคการเกษตร การวิจัยนี้ดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประกอบการวิเคราะห์ผล โดยเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจำนวน 188 องค์กรและสัมภาษณ์เชิงลึกกับองค์กรใหม่ภาคการเกษตร 4 องค์กร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์ถดถอยแบบเชิงชั้นเพื่อทดสอบสมมติฐานผลการวิจัยพบว่า ความสามารถในการใช้ความรู้ภายนอกมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมขององค์กรใหม่ ในขณะที่องค์กรใหม่ยังขาดประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ความรู้เดิมที่มีอยู่กับความรู้ภายนอกเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ ดังนั้นการยกระดับนวัตกรรมองค์กรใหม่ภาคการเกษตร ผู้ประกอบการธุรกิจและภาครัฐควรให้ความสำคัญการสร้างเครือข่ายแหล่งความรู้ภายนอกเป็นสำคัญ พร้อมกับแนวทางการสะสมองค์ความรู้เดิมให้มากเพียงพอต่อการสร้างนวัตกรรมในอนาคต
การลดข้อจำกัดทางการบินและการขยายตัวของความต้องการเดินทางโดยสารทางอากาศส่งผลให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาสนามบินในทิศทางของเชิงพาณิชย์มากขึ้น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของสนามบิน การยกระดับคุณภาพการให้บริการ รวมถึงการวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการดำเนินงานของสนามบินให้ดีขึ้น โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประเมินและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของสนามบินได้รับการศึกษาอย่างแพร่หลาย ซึ่งในส่วนของเครื่องมือการวัดประสิทธิภาพทางเทคนิคของสนามบินนั้น ตัวแบบการวิเคราะห์การโอบล้อมของข้อมูลได้รับความสนใจในการประยุกต์ใช้อันเนื่องมาจากจุดเด่นของตัวแบบที่มีความเหมาะสมกับลักษณะข้อมูลของสนามบินเมื่อเทียบกับตัวแบบในการวัดประสิทธิภาพรูปแบบอื่น แม้ตัวแบบดังกล่าวจะได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง แต่การอธิบายถึงแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับตัวแบบยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางการประยุกต์ใช้ตัวแบบในบริบทของสนามบินยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการอธิบายกรอบแนวคิด และทฤษฎีอันเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ตัวแบบการวิเคราะห์การโอบล้อมข้อมูล ควบคู่ไปกับการนำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ตัวแบบในบริบทของสนามบินผ่านการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อให้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินประสิทธิภาพทางเทคนิคของสนามบินมีความสมบูรณ์ครบถ้วนสำหรับการประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต
จากการประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดปัจจัยนำเข้า-กระบวนการ-ผลลัพธ์และทัศนะการจัดหมวดหมู่ทางสังคม และการศึกษาภายใต้บริบทกลุ่มตัวอย่างสำนักงานบัญชีคุณภาพ จำนวน 89 แห่ง ในประเทศไทย การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการประเมินความเป็นไปได้ที่ความหลากหลายภายในทีมในมิติความหลากหลายทางเพศและช่วงอายุจะมีบทบาทเป็น ตัวแปรเงื่อนไขต่อระดับความสัมพันธ์ระหว่างการมุ่งเน้นการเรียนรู้ของทีม สมรรถนะการเรียนรู้ของทีม และประสิทธิผลทีมงาน จากการวิเคราะห์แบบจำลองโครงสร้างด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดและการใช้ชุดคำสั่งที่ทำงานอัตโนมัติของ Hayes การศึกษาครั้งนี้พบว่า ระดับอิทธิพลทางตรงของการมุ่งเน้นการเรียนรู้ของทีมที่มีต่อสมรรถนะการเรียนรู้ของทีมขึ้นอยู่กับระดับความหลากหลายทางเพศและช่วงอายุ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการมุ่งเน้นการเรียนรู้ของทีมและประสิทธิผลทีมงานถูกคั่นกลางด้วยสมรรถนะการเรียนรู้ของทีม และระดับอิทธิพลคั่นกลางนี้ถูกกำกับโดยความหลากหลายทางเพศ การศึกษาครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารทีมงานบัญชีมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการส่งเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ของทีมและประสิทธิผลทีมงานโดยมีความหลากหลายทางเพศและช่วงวัยเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้ระดับอิทธิพลของการมุ่งเน้นการเรียนรู้ของทีมเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ การนำผลการวิจัยไปใช้สำหรับการออกแบบองค์ประกอบทีมด้านเพศและอายุได้ถูกอภิปรายไว้ในส่วนของการสรุปผลการวิจัย