การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลกระทบของการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ที่มีต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย รวบรวมข้อมูลจากธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย 109 แห่ง ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ทดสอบสมมุติฐานด้วยการวิเคราะห์สหสัมพันธ์และวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ ด้านองค์กรแห่งการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า ด้านเทคโนโลยีการจัดการความสัมพันธ์ และด้านการจัดการความรู้มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและความสามารถทางการตลาด ความสามารถทางการตลาดมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและเป็นตัวแปรคั่นกลางที่ช่วยเพิ่มระดับความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการลูกค้าสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม งานวิจัยนี้ใช้ทฤษฎีฐานทรัพยากรขยายองค์ความรู้ทางการตลาดเกี่ยวกับการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นทักษะที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจโรงแรมให้มีความสามารถทางแข่งขันทางการตลาดทำให้ผลการดำเนินงานธุรกิจดียิ่งขึ้น จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารธุรกิจโรงแรมในการจัดการลูกค้าสัมพันธ์แบบ 2 ทิศทาง เน้นการเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานชัดเจน พัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ และนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยกำหนดกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจโรงแรม
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์แบบไม่ใช่เชิงเส้นระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) กับมูลค่าทางการตลาดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2560 การศึกษาใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเพื่อระบุมิติของ CSR ที่สำคัญ และทดสอบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ CSR กับอัตราส่วน Tobin’s Q ในปีเดียวกัน (2559) และปีถัดไป (2560) ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบพบมิติที่สำคัญของ CSR 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาพนักงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน และ 2) ด้านการกำกับดูแล การรายงาน และการต่อต้านทุจริต โดยกลุ่มด้านการพัฒนาพนักงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชนมีความสัมพันธ์แบบไม่ใช่เชิงเส้นในลักษณะรูปตัวยู (U-Shaped) กับ Tobin’s Q ของกิจการในปีเดียวกันและปีถัดไป ขณะที่ CSR ด้านการกำกับดูแล การรายงาน และการต่อต้านทุจริต ไม่มีความสัมพันธ์กับมูลค่าทางการตลาดของกิจการ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการให้ความสำคัญเพียงระดับนโยบายและการวางแผนของผู้บริหาร ไม่เพียงพอต่อการสร้างมูลค่ากิจการในมุมมองของนักลงทุน แต่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาพนักงาน สิ่งแวดล้อม และชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ การศึกษาดังกล่าวสนับสนุนทฤษฎีฐานทรัพยากรที่กล่าวว่า การใส่ใจด้านการพัฒนาบุคลากรจะนำไปสู่ความสามารถที่แตกต่างของกิจการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการในระยะยาว
บทคัดย่อ วัตถุประสงค์การวิจัยคือ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพทางการตลาด ความสามารถด้านแพลตฟอร์ม ความสามารถด้านเว็บ และความสามารถการตลาดดิจิทัล เป็นการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้วิธีสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดพิษณุโลก 315 ราย ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน วิเคราะห์สมการโครงสร้างด้วยโปรแกรม AMOS ผลการวิจัยพบว่าโมเดลประสิทธิภาพทางการตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดพิษณุโลกประกอบด้วยความสามารถด้านแพลตฟอร์ม ความสามารถด้านเว็บ และความสามารถการตลาดดิจิทัล มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี ผลการศึกษานี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจและให้ความสำคัญกับความสามารถการตลาดดิจิทัลที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความสามารถด้านเว็บ ควรให้ความสำคัญกับการใช้เว็บไซต์ให้คำแนะนำข้อมูลผลิตภัณฑ์และองค์กร ตลอดจนรับข้อเสนอและข้อร้องเรียนจากลูกค้า ซึ่งประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งสิ้น โมเดลการศึกษานี้ประยุกต์และผสมผสานแนวคิดความสามารถเชิงพลวัตและความสามารถการตลาดดิจิทัลในการใช้เป็นกรอบแนวคิดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสในการลงทุน โครงสร้างเงินทุน และนโยบายการจ่ายเงินปันผลในวงจรชีวิตธุรกิจที่แตกต่างกันของบริษัทในประเทศไทยซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดทุนเกิดใหม่ งานวิจัยนี้ขยายการศึกษาในอดีตโดยเพิ่มการตรวจสอบผลกระทบของวงจรชีวิตขององค์กรที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสในการลงทุน และนโยบายทางการเงิน โดยวิเคราะห์ข้อมูลประจำปีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างปี ค.ศ. 2000 - 2019 ผลการศึกษาแสดงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างโอกาสในการลงทุนและอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการส่งสัญญาณ นอกจากนี้บริษัทที่มีโอกาสในการลงทุนในระดับสูงมีแนวโน้มจะจ่ายเงินปันผลน้อยลงเนื่องจากมีกระแสเงินสดอิสระต่ำ ผลการศึกษายังพบว่าวงจรชีวิตขององค์กรมีอิทธิพลกำกับในเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสในการลงทุนและอัตราส่วนหนี้สินโดยหากบริษัทมีโอกาสในการลงทุนที่ระดับเดียวกัน บริษัทที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโตและช่วงอิ่มตัวมีแนวโน้มที่จะใช้เงินทุนจากการกู้ยืมมากกว่าบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นและช่วงถดถอยของวงจรชีวิตธุรกิจ อย่างไรก็ตามวงจรธุรกิจไม่มีอิทธิพลกำกับต่อความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสในการลงทุนและอัตราการจ่ายเงินปันผล