การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรในอนาคตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระหว่างปีพ.ศ. 2543 ถึง 2561 โดยใช้วิธีการทางเศรษฐมิติ Fixed Effect Unbalanced Panel Least Square และ Pooled OLS ผลการศึกษาพบความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินปันผลและ การเปลี่ยนแปลงของกำไรในอนาคตในทิศทางตรงข้าม โดยเฉพาะการลดลงของการจ่ายเงินปันผลมีความสัมพันธ์ต่อ การเพิ่มขึ้นของกำไรในอนาคตในระยะเวลา 1, 2, และ 3 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของการจ่าย เงินปันผลมีความสัมพันธ์ต่อการลดลงของกำไรในระยะเวลา 1 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการส่งสัญญาณเงินปันผลและสมมติฐานการอิ่มตัวของกิจการ
ภายใต้ความนิยมอย่างแพร่หลายของการสำรวจภาคตัดขวางในงานวิจัยทางธุรกิจและการจัดการ บรรณาธิการวารสารและนักวิชาการได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเที่ยงตรงของผลการวิจัยจากวิธีการนี้ ซึ่งมักมีความเกี่ยวข้องกับสองประเด็นหลักคือ ความเอนเอียงของความแปรปรวนจากคุณลักษณะร่วมของวิธีการวัด และการอนุมานความเป็นเหตุและผล แม้ว่าการสำรวจระยะยาวจะเป็นวิธีการที่มักถูกเสนอแนะให้ใช้ในการจัดการกับปัญหาสองประการนี้ที่บั่นทอนความเที่ยงตรงของผลการวิจัย แต่มีการศึกษาเชิงประจักษ์น้อยมากที่ทำการทดสอบประสิทธิภาพของข้อเสนอแนะนี้ ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินประโยชน์เชิงเปรียบเทียบระหว่างการเก็บข้อมูลภาคตัดขวางและระยะยาวในการแก้ไขปัญหาความเอนเอียงของความแปรปรวนจากคุณลักษณะร่วมของวิธีการวัดและการส่งเสริมความสามารถในการอนุมานความเป็นเหตุและผล โดยทำการเก็บข้อมูลระยะยาวจาก 62 กลุ่มงาน ผลการศึกษาพบว่า แม้ว่าการสำรวจระยะยาวจะมีประโยชน์ในการจัดการกับสองปัญหาหลักนี้ที่บั่นทอนความเที่ยงตรง แต่การสำรวจภาคตัดขวางอาจมีความเหมาะสมเช่นกันในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในบางสถานการณ์เช่น เมื่อใช้รูปแบบและมาตรวัดที่แตกต่างกันในการวัดตัวแปรที่แตกต่างกัน บทสรุปของการศึกษาครั้งนี้ได้ให้แนวทางสำหรับนักวิจัยนำไปใช้เพื่อตัดสินใจว่าควรทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระยะยาวหรือไม่
ประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวประสบความสำเร็จ การศึกษาครั้งนี้จึงกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ส่งผลต่อการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีความผูกพันกับสถานที่เป็นตัวแปรส่งผ่านและระยะเวลาการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรกำกับ การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีแบบผสานวิธี โดยการศึกษาเชิงปริมาณเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เคยเดินทางท่องเที่ยวภูเก็ตที่เป็นเมืองวิทยาการอาหาร จำนวน 717 คน และการศึกษาเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 15 คน ผลการศึกษาพบว่าระยะเวลาการท่องเที่ยวมีอิทธิพลกำกับความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารและความผูกพันกับสถานที่ นอกจากนั้นความผูกพันกับสถานที่มีอิทธิพลส่งผ่านความสัมพันธ์ของประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารต่อการแบ่งปันประสบการณ์ อีกทั้งยังพบความสัมพันธ์ของประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารต่อการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีความผูกพันกับสถานที่เป็นตัวแปรส่งผ่านและระยะเวลาการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรกำกับ ซึ่งผลการศึกษาเชิงคุณภาพได้สนับสนุนผลการศึกษาเชิงปริมาณไปในทิศทางเดียวกัน การศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กำหนดนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้โดยสารแท็กซี่ไทยต่างประสบปัญหาคุณภาพบริการแท็กซี่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมของผู้โดยสารแท็กซี่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาและพัฒนาคุณภาพบริการแท็กซี่ผ่านมุมมองผู้โดยสาร งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะสำคัญของคุณภาพบริการจากมุมมองผู้ใช้บริการแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ผู้ใช้บริการแท็กซี่จำนวน 495 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบสะดวก เครื่องมือในการวิจัยคือ แบบสอบถามออนไลน์ตามแนวคิดแบบจำลองคาโน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยร้อยละ เทคนิคแบบจำลองคาโนและเทคนิคคาโนเชิงวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า คุณลักษณะสำคัญของคุณภาพบริการแท็กซี่ที่ต้องตระหนักคือ 1) คุณลักษณะคุณภาพแบบดึงดูด ได้แก่ ระบบแจ้งเตือนเมื่อแท็กซี่ออกนอกเส้นทาง และความปลอดภัยจากการใช้บริการแท็กซี่ในสถานการณ์โควิด 19 2) คุณลักษณะคุณภาพแบบมิติเดียว จำนวน 15 ข้อ โดยมีเรื่องพนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎจราจร การตรวจสอบความถูกต้องบัตรแสดงตัวพนักงานขับรถ และสภาพรถแท็กซี่ที่มีค่าดัชนีความพึงพอใจของลูกค้าสูงสุด 3 อันดับแรก ส่วนคุณลักษณะคุณภาพแบบเฉย ๆ จำนวน 10 ข้อ ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกใช้แท็กซี่ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้สามารถเป็นแนวทางให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปพัฒนาคุณภาพบริการแท็กซี่ให้ดีขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจแท็กซี่ต่อไป